ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีพีเอ็น

ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2519 โดย นางวรรณี ลิทองกุล ดำเนินกิจการด้านการผลิตดอกไม้ประดิษฐ์จากกระดาษสา ซึ่งเป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน ภายใต้แนวคิดที่จะช่วยเหลือกลุ่มแม่บ้านในท้องถิ่นให้มีรายได้เสริมนอกเหนือไปจากรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร

ในตอนแรกที่เริ่มดำเนินกิจการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีพีเอ็น มีแรงงานที่มีความสามารถด้านหัตถกรรมพื้นบ้านจำนวน 15 คน และด้วยความสามารถของผู้บริหาร ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีพีเอ็น พัฒนาการผลิตจากอุตสาหกรรมขนาดเล็กเติบโตจนกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีแรงงานเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2,000 คน ในปี 2529 และเพิ่มกำลังการผลิตจนสามารถทำการส่งออกผลิตภัณฑ์ดอกไม้ประดิษฐ์จากกระดาษสาส่งออกไปขายยัง ร้านค้าปลอดภาษีประจำสถานทูตสหรัฐอเมริกา ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก

โดยความช่วยเหลือของ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ภายใต้โครงการป้องกันปัญหาการตกเขียวเยาวชน และสตรีในเขตพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยแรงงานส่วนใหญ่เป็น สตรีที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกตกเขียว และด้วยความสามารถในการบริหาร รวมถึงความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือสังคมทำให้ คุณวรรณี    ลิทองกุล ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ

  • ในปี พ.ศ. 2530 ได้รับรางวัลจาก “สหพันธ์ยูเซส ประเทศแคนาดา”  ในฐานะผู้ส่งเสริมความเป็นอยู่ของสตรีในชุมชน
  • ในปี พ.ศ. 2530 ได้รับรางวัล “ผู้บริหารสตรีดีเด่น”  จาก นายกรัฐมนตรี ฯพณฯท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
  • ปี พ.ศ. 2535 ได้รับพระราชทานเหรียญเชิดชูเกียรติ “สร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคม” จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
  • ปี พ.ศ. 2547 ได้รับประทานโล่ประกาศเกียรติคุณ “เป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญประโยชน์ เสียสละสนับสนุนสมทบทุน มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และช่วยเหลือนักกีฬาคนพิการให้เปลี่ยนจากภาระ เป็นพลังของชาติ”  จาก พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
  • ปี พ.ศ. 2551 รับพระราชทานของที่ระลึกในงานวัน “มูลนิธิสิรินทร”  จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

นับเป็นรางวัลที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถ และความสำเร็จของผู้บริหาร และห้างหุ้นส่วนจำกัด วีพีเอ็น

ในปี 2531 ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีพีเอ็น ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นมูลค่า 5 ล้านบาท และเปลี่ยนจากห้างหุ้นส่วนจำกัด วีพีเอ็น เป็น บริษัท วีพีเอ็น คอลเลคชั่นส์ จำกัด พร้อมกับการขยายงานประกอบกิจการในด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยโครงการแรกเป็นโครงการจัดสรรที่ดินเกษตรชุมชนแบบครบวงจร บนเนื้อที่กว่า 200 ไร่ ในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

โครงการถัดมาเป็นโครงการสวนเกษตรบนเนื้อที่กว่า 700 ไร่ ริมถนนสายซุปเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำพูน ในนาม “สวนริมลำพูน” และโครงการจุฑารินทร์แอนด์รีสอร์ท บนพื้นที่ 50 ไร่ ในเขตอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

ถึงแม้ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังตกต่ำ แต่ด้วยความสามารถในด้านการบริหาร ผู้บริหารของบริษัท ฯ ได้ดำเนินกิจการและนำพาบริษัท ฯ ประสบความสำเร็จผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ด้วยดี และด้วยสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม ในปี 2540 บริษัทฯ ได้เป็นที่ปรึกษาในการแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและการบุกรุกพื้นที่สาธารณของชาวชุมชนแออัด ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ด้วยการสนับสนุนของการเคหะแห่งชาติ ทางบริษัท ฯได้ดำเนินการโครงการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนแออัดทั้งสิ้นประมาณ 4,500 ครัวเรือน และประสบความสำเร็จด้วยดี

นอกจากความสนใจที่จะช่วยด้านชีวิตความเป็นอยู่ และรายได้ของชุมชนแล้ว ทางบริษัทฯ ยังมองเห็นถึงความสำคัญที่จะ ปกป้อง และบำรุงรักษาสภาพแวดล้อม เนื่องด้วยในปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมนับเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข บริษัทฯ เริ่มศึกษางานด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัย และโครงการแรกที่ทางบริษัท ฯ ได้มีส่วนร่วมในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของชุมชนคือ โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรของเทศบาลเมืองลำพูน โดยระบบการกำจัดขยะดังกล่าวประกอบด้วย การคัดแยกขยะเพื่อนำวัสดุเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง การทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ การเผาขยะมูลฝอยด้วยเตาเผาปลอดมลพิษ และการฝังกลบขยะมูลฝอย พร้อมทั้งจัดภูมิทัศน์ในพื้นที่โครงการให้สวยงาม เพื่อลดการต่อต้านจากชุมชนโดยรอบพื้นที่โครงการ โดยเริ่มก่อสร้างโครงการในปี 2541 และรับดำเนินการบริหารจัดการ การกำจัดขยะมูลฝอยทั้งระบบจนกระทั่งถึงปี 2545

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราชดำริเรื่องแนวทางเกษตรพอเพียง สถานีเกษตรโครงการหลวงดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 จึงร่วมกันทำการศึกษาวิจัย โครงการระบบการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร รวมทั้งสูตรการหมักขยะอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ  ทำให้บริษัทฯ ได้มีโอกาส และแนวทางในการศึกษา และได้รับการสนับสนุนข้อมูล จากสถานีเกษตรโครงการหลวงดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักรระบบการหมักขยะอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ยชีวภาพบนสถานีเกษตรโครงการหลวงดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2544 ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและปัจจุบันทางโครงการหลวงฯ ได้ผลิตปุ๋ยชีวภาพ เพื่อใช้ในโครงการได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

ในปัจจุบันด้วยความพร้อมทางด้านบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความสามารถ ทางบริษัทฯได้ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท ในปี 2544 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 100 ล้านบาท ในปี 2552 เพื่อรองรับการขยายงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมให้กว้างขวางขึ้น มีนโยบายให้บริการในด้าน การออกแบบและก่อสร้าง ระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน ระบบการจัดการขยะแบบครบวงจรรูปแบบใหม่ อันประกอบด้วย การคัดแยกและนำขยะมูลฝอยที่มีประโยชน์เวียนกลับมาใช้ใหม่ การหมักปุ๋ยชีวภาพจากขยะอินทรีย์ การลดปริมาตรขยะมูลฝอย ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย  จนมีผลงานที่ได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานทั้งทางภาครัฐและเอกชน